ประเพณีต่างๆ


เทศกาลและงานประเพณี จังหวัดพัทลุงงานเทศกาลล่องเรือ-แลนกทะเลน้อย เป็นงานประเพณีที่เริ่มขึ้นใหม่เมื่อปี ๒๕๔๑ เพื่อเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวพิเศษในปีท่องเที่ยวไทย และให้เหมาะสมกับพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของพัทลุง มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นระยะเวลา ๑ เดือน (๑๔ กุมภาพันธ์-๑๕ มีนาคม) เป็นช่วงเวลาที่มีนกและธรรมชาติสวยงามที่สุด จัดบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย แต่ละวันจะมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวนั่งเรือหางยาว เที่ยวชมนก และพรรณไม้น้ำ การแสดงพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้าเกษตร และวิถีชีวิตของชุมชน ตลอดจนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นบ้านนานาชนิด

งานประเพณีแข่งโพนลากพระ หรือ งานชักพระ เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔–๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ตรงกับเทศกาลออกพรรษา จะมีงานประเพณีลากพระหรือชักพระ ทั้งทางบกและทางน้ำ สำหรับจังหวัดพัทลุงเป็นการลากพระทางบก จะมีการตีโพน (กลอง) เพื่อควบคุมจังหวะในการลากพระ ขบวนพระลากของแต่ละวัดก็จะมีผู้ตีโพนอยู่บนขบวน เมื่อผ่านวัดต่างๆ ก็จะมีการตีโพนท้าทายกัน ทำให้มีการแข่งขันตีโพนขึ้นซึ่งมีการแข่งขันตีโพนเป็นประจำทุกปี บริเวณจัดงานอยู่ที่สนามกีฬา จังหวัดพัทลุง และหาดแสนสุขลำปำ อำเภอเมือง กิจกรรมในงานมีการแข่งโพนจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง การประกวดขบวนแห่โพน การประกวดลีลาตีโพน  แสดงนาฏศิลป์  การซัดต้ม การประกวดแห่เรือพระพิธีทางศาสนา กีฬาทางน้ำที่ทะเสสาบลำปำ นิทรรศการและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง เช่น การทำเสื่อกระจูดและผลิตภัณฑ์กะลา

ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมโนราห์หรือโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของโนรา สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียภาคใต้ พร้อมกับละครชาตรี แต่ท่าร่ายรำถูกเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนแต่ละจังหวัด การร่ายรำมีท่าสำคัญ ๑๒ ท่า การแสดงจะดูท่าร่ายรำ ฟังบทร้องซึ่งผู้แสดงจะร้องเองโดยการด้นกลอนสดหรือร้องตามบทที่แต่งไว้

หนังตะลุง   เป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมทางภาคใต้  หนังตะลุงจะทำจากหนังวัวดิบตากแห้งเป็นแผ่นแข็ง ตัดเป็นตัวละครต่าง ๆ สลักลวดลายสวยงาม  โดยมากมักจะทาสีดำทั้งตัว ตัวหนังจะมีไม้ไผ่ผ่าเพื่อหนีบตัวหนัง เรียกว่าไม้ตับ  ปากและมือจะขยับได้ตามลีลาของบทบรรยาย  มีคนเชิดซึ่งเป็นคนพากษ์ และวงดนตรีรวมแล้วจำนวนไม่เกิน ๘ คน  ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ กลอง โพน ฆ้อง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพัทลุง โทร. ๐ ๗๔๖๑ ๑๖๓๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น